รีวิว (วิว) กาญจนบุรี
KANCHANABURI
{ สะพานมอญ – เมืองบาดาล – ป้อมปี่ – ช่องเขาขาด }
การรีวิวครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีเรื่องเล่าอะไรเพราะว่า เป็นการไปเที่ยวแบบ เช้า–เย็น–กลับ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเพราะว่ามันก็ไม่ใช่ทริป ประหยัด, โรงแรมดี, นางแบบสวย หรือ แม้แต่รูปถ่ายดีๆ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในการเดินทางครั้งนี้ ฮ่าๆๆ ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นเลยวุ้ย แต่วันนี้อะนะความรู้ล้วนๆ ถือซะว่าเป็นการแนะนำสถานที่เที่ยวจุดต่างๆ ของจังหวัดนี้แล้วกัน
เพราะว่าจังหวัดกาญฯ มีพื้นที่ขนาดใหญ่ สถานที่สำคัญๆค่อนข้างเยอะ เพราะอะไรให้ถามหา ”โกโบริ” ล้อเล่น ที่นี่ประวัติศาสตร์ค่อนข้างเยอะในเรื่องสงคราม
เอาเป็นว่าไปดูภาพจากกล้องคอมแพคมือสองที่ซื้อมาใช้ถ่ายรูปพวกนี้แล้ว ว่ามันพอจะไปวัดไปวาได้หรือเปล่า หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ website KANCHANABURI
ป้อมปี่
จุดชมวิวป้อมปี่ เป็นสถานที่ชมวิวในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมที่หลายๆ คนพูดถึง ว่าเป็นจุดที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม โรแมนติก และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งทางภาคตะวันตก เหมาะแก่การพักผ่อนแบบไม่ลำบากมาก มีบรรยากาศโดยรอบเงียบสงบ มองเห็นท้องน้ำของอ่างเก็บน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทิวทัศน์ภูเขาอยู่ไกลสายตาออกไป หน้าหนาวได้เห็นไอหมอกละเลียดตามผิวน้ำ จนหลายคนคิดไปว่ากำลังนอนอยู่ที่ปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลยทีเดียว
จุดชมวิวป้อมปี่ เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ มีความสงบ เงียบ เหมาะแก่การพักผ่อน เห็นวิวธรรมชาติ ภูเขาที่โอบล้อมอ่างเก็บน้ำ และกิ่งไม้ที่โผล่พ้นผิวน้ำ คำว่าป้อมปี่ มาจากภาษากระเหรี่ยงคำว่า “เปอปี่” หมายถึงต้นอ้อ ต่อมาออกเสียงเพี้ยนมาเป็นป้อมปี่
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมากางเต็นท์นอนเพื่อชมบรรยากาศ ดูพระอาทิตย์ตก ซึ่งทางอุทยานฯ ได้จัดลานกางเต็นท์ไว้บริเวณสนามหญ้าริมอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ได้ชื่นชมทิวทัศน์ได้อย่างเต็มที่ มีระเบียงยื่นออกไปในอ่างเก็บน้ำ พร้อมม้านั่ง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน มีบ้านพักที่สามารถติดต่อจองได้จากเวปของอุทยานฯ ล่วงหน้า ลานกางเต็นท์เป็นจุดที่สามารถชมวิวพระอาทิตย์ตกได้สวยมาก มีห้องสุขาสะอาด ห้องอาบน้ำพร้อมเครื่องทำน้ำอุ่น บริเวณอ่างเก็บน้ำมีแพสำหรับกระโดดน้ำ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เตรียมอาหารมาทำเอง ทางอุทยานฯ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไว้ให้เช่น เตาปิ้ง ซิ้งค์ล้างจาน สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมอาหารมาก็สามารถใช้บริการจากร้านอาหารของทางอุทยานฯ ได้
สะพานมอญ & เมืองบาดาล
สะพานมอญ
สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์ เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยังหมู่บ้านมอญ ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า และเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับสะพานที่เสมือนเป็นสายใยวัฒนธรรมของชาวมอญและไทยในดินแดนสุดขอบประเทศแห่งนี้
การเที่ยวชมสะพานมอญ ควรแวะเดินชมตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 6.00 – 7.00 น. เป็นช่วงที่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญ ใส่บาตรพระทุกเช้า หากนักท่องเที่ยวต้องการใส่บาตร ก็มีอาหารขายบริเวณหมู่บ้านมอญ สายๆ หากเดินข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านมอญ ก็สามารถเที่ยวชมบ้านเรือนในแบบชาวมอญ ซื้อของที่ระลึก หรือจะแวะชิมขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย ที่เป็นอาหารพื้นบ้านชาวมอญก็ได้
วิถีชีวิตชาวมอญที่พบเห็นได้บริเวณสะพานมอญ และหมู่บ้านมอญ เมื่อความเจริญค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่หมู่บ้านมอญ การเดินทางมีความสะดวกสบายขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ทำให้วิถีชีวิตชาวมอญเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แทรกซึมเข้ามาสู่ชุมชน แต่ก็ยังได้เห็นกลิ่นไอความเป็นมอญบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ละครอบครัวในหมู่บ้านมอญ ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาว จะเข้าไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง เราจึงมักเห็นการดำเนินชีวิตประจำวันแบบมอญของเด็กๆ และผู้สูงวัย มากกว่าวัยรุ่น
เมืองบาดาล
วัดใต้น้ำ หรือวัดจมน้ำ คือวัดวังก์วิเวการามเดิม ซึ่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็น Unseen Thailand เพราะมีความแปลกที่มีซากโบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ เป็นสถานที่เล่าขานถึงตำนานความเป็นมาของวัดหลวงพ่ออุตตมะ จนหลายคนเรียกกันว่าเมืองบาดาล นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม – เมษายน เป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำหลังเขื่อนลดลงมาก จะสามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์เก่าได้ ณ บริเวณสามประสบ ส่วนคนที่มาเที่ยวช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่ประมาณตุลาคม – มกราคม อาจจะได้เห็นแค่บางส่วนของตัวโบสถ์ที่โผล่พ้นน้ำ หรือบางทีก็จมน้ำเป็นเมืองบาดาล จะมีให้เห็นก็เพียงแต่ยอดหอระฆังเดิมเท่านั้นที่สูงพ้นน้ำ
วัดวังก์วิเวการามเดิมนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2498 เป็นวัดที่เกิดจากพลังความเลื่อมใสศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะ จุดที่ตั้งของวัดนี้ อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ คือบริเวณเนินที่มีแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำบิคลี่ ซองกาเลีย และรันตี มารวมกันเป็นแม่น้ำแควน้อย
ในปี พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีโครงการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อเขื่อนเขาแหลม เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเก็บกักน้ำหลังเขื่อนแล้ว ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจนท่วมตัวอำเภอเก่า ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ หมู่บ้านชาวมอญอีกกว่า 1,000 หลังคาเรือน รวมถึงวัดวังก์วิเวการามเดิม ทางการจึงได้อพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ออกจากบริเวณที่น้ำท่วม และย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขาด้านฝั่งตะวันตกของลำน้ำแควน้อยในปัจจุบัน บริเวณวัดเดิม ถูกปล่อยให้จมอยู่ใต้น้ำ เป็นที่รู้จักกันในนามของ “วัดใต้น้ำ” หรือ เมืองบาดาล ซึ่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในแบบ Unseen Thailand
ช่องเขาขาด
พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด เป็นสถานที่เที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี พ.ศ. 2485 – 2488 โดยมีทั้งส่วนที่เป็นนิทรรศการภาพถ่าย สไลด์ มัลติมีเดีย การจัดแสดงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของเชลยศึกสงคราม รวมถืงการเปิดให้เข้าชมสถานที่จริงบริเวณช่องเขาขาดที่เป็นเส้นทางการสร้างรถไฟสู่ประเทศพม่า
พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดนี้ตั้งอยู่บริเวณกองการเกษตรและสหกรณ์ กองกำลังทหารพัฒนา อำเภอไทรโยค ห่างจากตัวเมืองกาญจน์ประมาณ 80 กิโลเมตร สามารถขับรถไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 323 สู่อำเภอทองผาภูมิ สังเกตได้เมื่อขับรถเลยน้ำตกไทรโยคน้อยไปประมาณ 20 กิโลเมตร ทางเข้าพิพิธภัณฑ์จะอยู่ทางซ้ายมือ
พิพิธภัณฑ์ส่วนที่จัดแสดงภายในอาคารหลังใหญ่ ภายในติดแอร์ทั้งชั้น เป็นนิทรรศการแสดงเรื่องราว ทั้งภาพถ่าย สไลด์ วีดีโอ ที่ถ่ายทอดถึงความโหดร้าย ป่าเถื่อนของสงคราม โดยบรรดาเชลยศึกถูกบังคับให้สร้างเส้นทางรถไฟผ่านเข้าไปยังป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยอันตรายจากโรคไข้ป่า รวมทั้งความยากลำบาก และความอดอยากในภาวะสงคราม ทำให้เชลยนับหมื่นคนต้องล้มตายลง เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ หนึ่งไม้หมอนต่อหนึ่งชีวิต ‘A life for every sleeper’ นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังมีการจัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มของเชลยศึก และอุปกรณ์ในการสร้างทาง เพื่อให้เห็นว่าในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีมากไปกว่าการใช้แค่ค้อน พลั่ว สิ่ว สว่าน จอบ ค้อน และบุ้งกี๋ ในการสร้างทางรถไฟ
บางส่วนของนิทรรศการมีการเขียนบรรยายถึงการลงโทษเชลย มีห้องจัดแสดงหุ่นจำลองสภาพความเป็นอยู่ของเชลย เป็นหุ่นจำลองเชลยศึกขณะที่แบกไม้หมอนในสภาพที่ผอมโซ ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีเสื้อผ้าใส่ มีแค่ผ้าเตี่ยวพันเป็นกางเกงในเท่านั้น ตัวอย่างอาหารของเชลยก็มีแค่ข้าวกองเล็กๆ กับผักดองและปลาแห้ง จดหมายที่เชลยสามารถส่งไปยังญาติ ก็เป็นเพียงข้อความพิมพ์สำเร็จที่ให้เชลยกรอกเพียงแค่ว่ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
ส่วนที่สองของพิพิธภัณฑ์ จะอยู่ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ เป็นเส้นทางเดินลงไปยังบริเวณช่องเขาขาด ที่เป็นพื้นที่จริงที่นักโทษสงครามได้ร่วมกันสร้างเส้นทางแห่งนี้ขึ้นด้วยความยากลำบาก โดยเส้นทางการไปบริเวณช่องเขาขาดนี้มี 2 เส้นทาง คือด้านล่าง เป็นเส้นทางที่เดินเข้าไปในช่องเขาบริเวณแนววางรางรถไฟ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางที่ต้องเดินขึ้นบันไดขึ้นไปบนเขาเพื่อชมช่องเขาจากด้านบนลงมา ทั้งสองเส้นทางใช้ระยะเวลาในการเดินไปต่างกัน คือเดินในช่องเขาใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง ส่วนด้านบน เหนื่อยกว่าและใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง